Animated Blue Pencil Animated Blue Pencil

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 1

วันพุธที่ 9 กันยายน 2558 เวลา 12.30-15.30 น.


ความรู้ที่ได้รับ

  • สัปดาห์นี้ เป็นสัปดาห์ที่ 5 สำหรับการเรียนวิชา สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย โดยสัปดาห์แรกนั้น (วันพุธที่ 12 สิงหาคม 2558) เป็นวันแม่แห่งชาติ ไม่มีการเรียนการสอน แต่อาจารย์ก็ปั๊มใบมาเรียนให้นักศึกษาทุกคน :) 

  • สัปดาห์ที่ 2 (วันพุธที่ 19 สิงหาคม 2558) อาจารย์ก็ปฐมนิเทศ แนะนำรายละเอียดของแนวการสอน และข้อตกลง ความร่วมมือ พร้อมทั้งให้ทำแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบของ Blog และให้เตรียมหาบทความ/งานวิจัยที่เกี่ยวกับสื่อเด็กปฐมวัย มาอย่างละ 5 เรื่อง

            นอกจากนั้น อาจารย์ก็ได้สอนเนื้อหาทางวิชาการในบทที่ 1 ธรรมชาติและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ซึ่งทำให้มีความรู้ ความเข้าใจในความเป็นเด็กมากขึ้น ได้รู้ว่าเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน รวมถึงลักษณะการเรียนรู้ของเด็ก การจำแนกลักษณะการเรียนรู้ของเด็ก รูปแบบ-กระบวนการเรียนรู้ และทักษะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัย เป็นต้น


  • สัปดาห์ที่ 3 (วันพุธที่ 26 สิงหาคม 2558) อาจารย์ให้ทำแบบทดสอบก่อนเรียน เกี่ยวกับสื่อเด็กปฐมวัย โดยให้นักศึกษาตอบคำถามตามความรู้เดิมของตนเอง เพื่อเป็นการทดสอบว่ามีความรู้เดิมมากน้อยเพียงใด ตอบตามความเข้าใจ ไม่มีผิด หลังจากนั้นอาจารย์ก็เฉลย และอธิบายคำตอบของแต่ละข้อให้ฟังอย่างถูกต้อง

            หลังจากนั้น ก็เข้าสู่เนื้อหาวิชาการ คือบทที่ 2 สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ทำให้รู้ความหมายและความสำคัญของสื่อ, ประเภทของสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย, ประโยชน์ของการเล่น, วิธีการส่งเสริมการเล่น, ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น ซึ่งสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น มีความหลากหลาย และแตกต่างกัน สื่อชิ้นหนึ่ง อาจจะสามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้ทั้ง 4 ด้าน และทำให้รู้ว่า สื่อแต่ละชนิด ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และความเหมาะสมของแต่ละช่วงวัยด้วย


  • สัปดาห์ที่ 4 (วันพุธที่ 2 กันยายน 2558) วันนี้ อาจารย์ให้แต่ละคนนำสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยมาใช้ในการเรียน และทำกิจกรรม เพื่อน ๆ แต่ละคนก็มีสื่อที่แตกต่างกันไป โดยที่อาจารย์ให้จับกลุ่ม และวิเคราะห์ช่วยกันว่า สื่อแต่ละชนิด เหมาะกับเด็กวัยใด ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านใดบ้าง มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร และนำมาอภิปรายหน้าชั้นเรียน กิจกรรมนี้ทำให้ได้เห็นสื่อหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เคยเห็น และไม่เคยเห็น ถือเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติม ทั้งยังทำให้ทราบว่า สื่อชนิดใด เหมาะสมกับเด็กวัยใด พัฒนาการด้านใดบ้าง เป็นต้น 


          ส่วนเนื้อหาวิชาการก็จะเป็นบทที่ 3 สื่อ การเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย ทำให้ได้ความรู้ ได้เห็นความหลากหลายของสื่อแต่ละรูปแบบ รวมทั้งการเล่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในทุก ๆ ด้าน ทำให้เด็กได้เรียนรู้จากการเล่น ตามที่ครูได้จัดประสบการณ์ให้

  • สัปดาห์ที่ 5 (วันพุธที่ 9 กันยายน 2558) วันนี้ อาจารย์ให้นักศึกษาเตรียมบทความที่เกี่ยวกับสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยมาคนละ 1 บท และให้ทุกคน ออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้ได้ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสื่อเด็กปฐมวัย ทั้งที่เป็นหลักทางวิชาการ หรือเป็นหัวข้อข่าว ที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางสื่อเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลกับตัวเด็ก เป็นต้น 


          จากนั้นก็เป็นการเรียนในบทที่ 4 กระบวนการใช้สื่อประกอบการเรียนรู้ ซึ่งทำให้มีความเข้ารู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการใช้สื่ออย่างไร ให้เด็กได้เกิดทักษะ ความสนุกสนาน และการเรียนรู้ โดยสามารถจัดประสบการณ์ด้วยการเล่นเกมต่าง ๆ เช่น เกมจับคู่ เกมภาพตัดต่อ โดมิโน เกมเรียงลำดับ เกมจัดหมวดหมู่ เกมหาความสัมพันธ์ระหว่างภาพกับสัญลักษณ์ เกมพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละเกมนั้น ก็ต้องจัดให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ



การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
  • เมื่อสามารถทำบล็อกเป็นแฟ้มสะสมงานได้ ก็ทำให้เกิดทักษะเพิ่มมากขึ้น และอาจจะนำไปใช้ในการทำสื่อการเรียนการสอน แบบเผยแพร่ต่อสาธารณะได้
  • เมื่อมีความรู้เกี่ยวกับสื่อเพิ่มมากขึ้น ก็สามารถนำไปจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัย ได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อดึงดูดความสนใจจากเด็ก และส่งเสริมพัฒนาการเด็กในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
  • เกม หรือการเล่นต่าง ๆ ที่มีความสนุกสนาน และได้ทักษะทางสติปัญญา การแก้ไขปัญหา ก็สามารถเป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กได้เช่นกัน เพื่อทำให้เด็กได้เรียนรู้จากการเล่นทั้งแบบอิสระ และมีกฎเกณฑ์ ตามความเหมาะสมของช่วงวัย
  • การรู้เท่าทันการใช้สื่อ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เป็นความรู้ที่สำคัญมาก เพราะทำให้ครู ผู้ปกครอง ได้นำเทคโนโลยีมาใช้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่สำคัญที่สุด คือการให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติเอง เช่น การวาดภาพ ระบายสี เกมต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทักษะ พัฒนาการของเด็กได้มากกว่า



การประเมินผล

ประเมินตนเอง  :  ตนเองมีความตั้งใจ ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชั้นเรียนอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ ช่วงบรรยายวิชาการ อาจจะมีบ้างที่ง่วง แต่ก็พยายามดึงตัวเองกลับมาฟังที่อาจารย์บรรยาย ทำให้ได้ความรู้ และทักษะการพูด การทำงานเป็นกลุ่ม เพิ่มขึ้นพอสมควร

ประเมินเพื่อน  :  เพื่อนทุกคน มีสื่อหรือชิ้นงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ หลากหลายรูปแบบ มีความน่าสนใจ ตั้งใจเรียน และทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อมีปัญหาหรือไม่เข้าใจ

ประเมินอาจารย์  :  อาจารย์แต่งกายสุภาพเรียบร้อย เป็นแบบอย่างที่ดีให้นักศึกษาเสมอ และมีการเตรียมความพร้อมในการสอนมาดีมาก ทำให้กิจกรรมการเรียนแต่ละชั่วโมง มีความหลากหลาย ทั้งด้านวิชาการ และลงมือปฏิบัติ อาจารย์น่ารักมาก ให้คำแนะนำที่ดีแก่นักศึกษาทุกครั้ง เมื่อนักศึกษามีปัญหาหรือสงสัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น